COLUMNIST

9 ปี ก้าวกระโดด พลังงานทดแทน ส.อ.ท.
POSTED ON -


 

คำพังเพยคนโบราณที่ว่า ชอบกินของขม ชอบชมเด็กสาว ชอบเล่าเรื่องเดิมหมายถึง คนแก่วันนี้ คนแก่วัดจะมาเล่าเรื่องเดิมเพื่อเสริมปัญญาในการเดินหน้าเรื่องดีๆ เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต ไม่โง่ซ้ำสอง จะมาเล่าเรื่องของพลังงานทดแทนใน ส.อ.ท. ว่าเริ่มมาอย่างไร จุดหมายปลายทางอยู่ตรงไหน ในภาวะที่มีแต่รัฐบาลรักษาการเพียงลำพัง วิสัยทัศน์ของประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ที่ย้ำเรื่องของสิ่งแวดล้อม ผนวกกับประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เหล้าเก่าในขวดใหม่คงยังไม่เพียงพอที่จะนำพาพลังงานทดแทนไปสู่เป้าหมาย หากขาดทีมงานและความร่วมมือของสมาชิก ส.อ.ท.

 

อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนได้รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน” (Renewable Energy Industry Club) ด้วยการผลักดันของสมาชิกระดับบิ๊กๆ เช่น กลุ่มบริษัทมิตรผล, กันยง ฯลฯ วันนั้นยังจำได้ดีว่าแทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “พลังงานทดแทน” แม้แต่กรรมการบริหาร ส.อ.ท. ในขณะนั้น...ยังบอกว่าพลังงานเหลือเฟือ ตั้งกลุ่มไปทำไม

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อ 9 ปีที่แล้ว พลังงานทดแทนราคาสูงมาก เช่น Solar cell ก็แพงจนไม่คุ้มค่าการลงทุน หรือว่า “ส.อ.ท. อาจไม่จำเป็นต้องมีกลุ่มนี้ก็ได้ ใครจะผลิตไฟฟ้าก็ไปเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าฯ ก็แล้วกัน” ดังนั้น กว่าจะตั้งกลุ่มได้ก็ใช้เวลานานถึง 6 เดือน

 

มาถึงวันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเติบโตแข็งแรง พร้อมจะเดินหน้าไปพร้อมกับทุกนโยบายของภาครัฐ ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง เป็นแกนนำให้สมาชิก ส.อ.ท. ภารกิจปัจจุบันของกลุ่มฯ ถ้าจะยืมคำพูดติดปากท้ายรถบรรทุกมาอ้างก็คงต้องบอกว่า “อะไรก็กู”

 

- ไฟไหม้บ่อฝังกลบ...ทำไมไม่เอาขยะไปผลิตโรงไฟฟ้า RDF?

- โรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังแย่ขาดทุน เชื้อเพลิงแพง

- โซลาร์หลังคา ทำไมต้องไปวิ่ง รง.4 รู้ไหมอายต่างประเทศเขา

- ไม้ยูคาฯ จะเอาไว้ใช้ผลิตเยื่อกระดาษให้พวกเราใช้ในประเทศ ทำไมจึงส่งออกไปเผาเป็นเชื้อเพลิงที่เมืองนอก

- ทำไมไม่รู้จักช่วยพลังงานชุมชนบ้าง มีแต่ CSR ทำจริงๆ มีไหม?

- โรงไฟฟ้าชีวมวลแอบเติมถ่านหินเกินกว่าสัญญา

- น้ำมันปาล์มไว้ทอดปลา บางครั้งขาดตลาด...เอาไปผลิตไบโอดีเซลหรือเปล่า?

- ไฟไหม้บ่อหมัก Biogas อีกแล้ว

- และอีกมากมายที่สายตรงมาที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

 

เพื่อสมาชิกและเครือข่ายพลังงานทดแทน เราจึงได้ตั้งคลินิกพลังงานทดแทนขึ้นเพื่อให้บริการ โดยมีสโลแกนว่า ทุกคำถามมีคำตอบ ทุกปัญหามีทางออก โดยมีคณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาช่วยกันตอบ ผู้ถามมีสิทธิ์สอบถามได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งชื่อหรือธุรกิจของท่านเองก็ได้ (เป็นคลินิกนิรนาม) หากเกรงว่าจะเกิด Conflict of Interest เนื่องจากอยู่ในธุรกิจเดียวกัน

 

 

จากบทเรียนวัยเตาะแตะ

 

ประมาณปี พ.ศ.2549 กระแสการส่งเสริมพืชน้ำมันสบู่ดำ (Jatropha) ซึ่งมีการปลูกมากอยู่แล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในครั้งนั้นสบู่ดำจากภาคอีสานถูกภาครัฐและเอกชนช่วยกันอาบน้ำผัดแป้งใส่น้ำหอมฝรั่งจากประเทศมหาอำนาจทางยุโรป กลายเป็นพืชความหวังและความฝันของใครๆ ในสมัยนั้นที่อยากจะเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันบนดิน

 

ภาครัฐนำโดยรัฐมนตรี ภาคเอกชนนำโดยบริษัทข้ามชาติในวงการน้ำมัน มีการส่งเสริมการปลูก แต่ไม่มีตลาดรองรับ เคราะห์กรรมจึงตกเป็นของผู้ลงทุนและเกษตรกร ซึ่งมีบางคนถึงกับต้องหนีหนี้ไปอยู่ต่างประเทศ บางคนก็ล้มละลาย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนซึ่งทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพลังงานพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยซากปรักหักพังในสมัยนั้น ยังเป็นตราบาปในใจของพวกเราหลายคน

 

แล้วหากถามว่า จริงๆ แล้ว "สบู่ดำ" (Jatropha) คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่? คำตอบยังเป็นสีเทาๆ ผู้ที่ตอบว่า “ไม่คุ้มค่าการลงทุน” คือภาครัฐ เนื่องจากไม่มีการอุดหนุนใดๆ นอกจากสนับสนุนให้ปลูก ถ้าไม่คุ้มค่าจริงๆ แล้วเหตุใดปัจจุบันยังมีการปลูกอยู่อีกไม่น้อย อีกทั้งในแผนการส่งเสริมพลังงานทดแทน AEDP ก็ยังมีชื่อของสบู่ดำอยู่ ใครอยากรู้เรื่องมากกว่านี้ สามารถอ่านในบทความของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเรื่อง “สบู่ดำกับหญ้าเนเปียร์ ต่างกันที่นโยบายรัฐ” ได้

 

สู่บทบาทในวัยเติบโต

 

พลังงานทดแทนเชิงพาณิชย์จริงๆ มีอยู่ 7 ธุรกิจ คือ (1) พลังงานลม (2) พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (3) พลังงานชีวมวล (4) พลังงานก๊าซชีวภาพ (5) พลังงานขยะ (6) เอทานอล และ (7) ไบโอดีเซล ถ้าจะพูดว่าความหลากหลายคือความสวยงาม กับความหลากหลายของพลังงานทดแทนในเมืองไทย อาจยังไม่ค่อยตรงนัก อันเนื่องจากลักษณะธุรกิจและเป้าหมายของแต่ละอุตสาหกรรมไม่ค่อยสอดคล้องกัน และในบางกรณีก็ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ขอสรุปเป็นหัวข้อย่อยๆ กับบทบาทปิดทองหลังพระของกลุ่มฯ ดังนี้

 

● ให้ความรู้และความจริงกับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เป็นมุมมองของภาคเอกชน

● ร่วมกันเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ

● ให้ความรู้และข้อมูลด้านการลงทุนกับสมาชิกและเครือข่าย

● ร่วมวิเคราะห์แผนการลงทุนเบื้องต้นให้สมาชิกโดยไม่คิดมูลค่า

● ร่วมต่อรองกฎระเบียบและแนวนโยบายของภาครัฐ

● ช่วยกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ

● ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางประสานงานของภาคเอกชนอย่างแท้จริง เพื่อสมาชิก เครือข่าย และประเทศไทย

● ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เช่น ใน AEC รวมทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน

ก้าวต่อไปในวัยเต่งตึง

 

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนพร้อมจะผลักดัน 7 ธุรกิจสู่เป้าหมาย ไม่ว่าการเมืองไทยจะไปในทิศทางใด พูดง่ายๆ ว่า RE ไทยจะ Go Inter เริ่มจาก AEC ก่อนจะเป็นไร นอกจากการรวมตัวเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานด้าน RE แล้ว กิจกรรมเร่งด่วนในปีนี้ยังประกอบด้วย

 

1. พลังงานลม ส่งเสริมให้มีการลงทุนใน 3 จังหวัดภาคใต้ พัฒนาอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็น “เบตงกรีนซิตี้” ร่วมกับโครงการหลวง

2. พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ส่งเสริมให้สถาบันการเงินยอมรับการลงทุนจากภาคเอกชนโดยไม่ต้องอาศัยการอุดหนุนจากภาครัฐในด้านการลงทุน โดยรัฐหันมาอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาตแบบ “One Stop Service” แทน

3. พลังงานจากชีวมวล ส่งเสริมตลาดส่งออก Biomass Pellet ขนานไปกับโรงไฟฟ้าชีวมวล สำหรับ Wood Pellet เน้นตลาดมาก่อน Marketing Oriented

4. พลังงานจากก๊าซชีวภาพ ส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นและเพิ่มการผลิตจากก๊าซชีวภาพจากการปลูกไม้โตเร็ว เช่น หญ้าเนเปียร์

5. พลังงานขยะ ส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF และลดการฝังกลบทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม (Zero Landfill)

6. เอทานอล เร่งการใช้เอทานอลในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้เป็น E-20 และ E-85

7. ไบโอดีเซล ให้เพิ่มเป็น B-7 ในยามปกติและ B-10 ในยามที่ปาล์มล้นตลาด พร้อมทั้งส่งเสริมพืชน้ำมันตัวใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ

 

พลังงานทดแทนตามแผน AEDP จะสวยหรูและไปได้ไกลเพียงใดอยู่ที่การส่งเสริมจากภาครัฐ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมอ่าน “FIT ชี้ชะตาพลังงานทดแทนไทย” จากเครือข่ายของเรา ชาว RE : Renewable Energy

 

FIT : Feed-in Tariff หมายถึง การอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบหนึ่ง หากภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่รัฐสนับสนุนจะจำหน่ายไฟฟ้าได้สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น หาก FIT เหมาะสมก็จะมีการลงทุนในพลังงานนั้นๆ

 

ในทำนองเดียวกัน หากพลังงานทดแทนประเภทใด FIT ต่ำเกินไป ก็จะไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทนั้น ดังนั้น เป้าหมายของพลังงานทดแทนจึงอยู่ที่ค่าของ FIT จะมีเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้นที่รัฐอุดหนุนราคา FIT ไว้เพียงพอ ส่วนพลังงานทดแทนอื่นๆ จะถึงเป้าหมายหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับ FIT ของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากนี้ไป

 

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนกับจุดยืนที่ไม่อาจแค่สนองนโยบาย

 

วันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมีสื่อพันธมิตรที่ให้พื้นที่พวกเราสะท้อนความจริงกว่า 6-7 สื่อ มีทั้งสิ่งพิมพ์และไอที จุดยืนของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนบนเส้นทางสายวิกฤตอย่างในปัจจุบัน คงไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ของสมาชิกและผู้ประกอบการ แต่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ หมายรวมถึง ผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน..... พลังงานไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่เป็นทั้งการลงทุน สาธารณูปโภค และเกมการเมืองในเวลาเดียวกัน